ภูมิหลังประเทศฟินแลนด์

ภูมิหลังประเทศฟินแลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ธ.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 17,631 view

สาธารณรัฐฟินแลนด์

Republic of Finland

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง                                                   ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ทิศเหนือติดกับนอร์เวย์ 

                                                          ทิศตะวันตกติดกับสวีเดน ทิศตะวันออกติดกับรัสเซีย

                                                          ทิศใต้ติดทะเลบอลติก และอ่าวฟินแลนด์

พื้นที่                                                  ๓๓๘,๑๔๕ ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง                                         กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki)

ประชากร                                           ๕,๕๑๗,๙๑๙ คน (ปี ๒๕๖๑)

ภูมิอากาศ                                          มี ๔ ฤดู ฤดูหนาว อุณหภูมิอยู่ระหว่าง -๑๐.๓ ถึง -๑.๕ องศาเซลเซียส

                                                          ฤดูใบไม้ผลิ ระหว่าง -๖.๖ ถึง ๑๕.๒ องศาเซลเซียส

                                                          ฤดูร้อน ระหว่าง ๙.๓ ถึง ๑๙.๖ องศาเซลเซียส

                                                          และฤดูใบไม้ร่วง ระหว่าง -๒.๕ ถึง ๑๓.๙ องศาเซลเซียส

ภาษาราชการ                                    ภาษาฟินแลนด์ และภาษาสวีเดน

ศาสนา                                               ศาสนาคริสต์ นิกายลูเทอแรน ร้อยละ ๗๒

                                                          นิกายกรีกออร์ธอด็อกซ์ ร้อยละ ๑.๑ นิกายอื่น ๆ ร้อยละ ๑.๖

                                                          และไม่นับถือศาสนา ร้อยละ ๒๕.๓ (ปี ๒๕๕๙) 

หน่วยเงินตรา                                     ยูโร

อัตราเงินเฟ้อ                                     ร้อยละ ๑.๑ (ปี ๒๕๖๑)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ            ๒๓๓.๖ พันล้านยูโร (ปี ๒๕๖๑)

รายได้ประชาชาติต่อหัว                    ๔๒,๓๔๐ ยูโร (ปี ๒๕๖๑)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ                ร้อยละ ๒.๓ (ปี ๒๕๖๑)

อัตราการว่างงาน                              ประมาณร้อยละ ๘.๕ (ปี ๒๕๖๑)

ระบอบการปกครอง                          ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (ระบบสภาเดียว) มีสมาชิก ๒๐๐ คน

                                                         ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี

                                                         ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

                                                         เป็นประมุขและรับผิดชอบนโยบายต่างประเทศ

                                                         วาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน ๒ วาระ

                                                         ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายซาอูลี นีนีสเตอะ (Mr. Sauli Niinistö)

                                                         ดำรงตำแหน่ง ครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

                                                         นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

                                                         และได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี

                                                         นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายอันติ รินเน่ (Mr. Antti Rinne)

                                                         ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒

ประวัติศาสตร์และการเมือง

            ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ฟินแลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดน  ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ (ค.ศ. ๑๘๐๙) จักรวรรดิ์รัสเซียได้รับชัยชนะเหนือสวีเดน ทำให้รัสเซียได้ปกครองฟินแลนด์ โดยตั้งเป็นราชรัฐ (Grand Duchy) ฟินแลนด์มีอำนาจในการปกครองตนเอง จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๑๗ เมื่อพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจจากพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ ๒ ฟินแลนด์จึงได้ประกาศเอกราชในวันที่ ๖ ธ.ค. ค.ศ. ๑๙๑๗ (พ.ศ. ๒๔๖๐) หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ได้เกิดสงครามกลางเมืองในฟินแลนด์ (ก.พ. - กลาง พ.ค. ค.ศ. ๑๙๑๘) ระหว่างฝ่ายขาว (Whites) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี กับฝ่ายแดง (Reds) ที่นิยมรัสเซีย สงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายขาว และการสูญเสียชีวิตของชาวฟินน์ทั้งสองฝ่าย และได้สร้างรอยแผลทางจิตใจให้กับคนรุ่นเก่าของฟินแลนด์  หลังสงครามกลางเมืองฟินแลนด์ยุติ เยอรมันมีอิทธิพลทางการเมืองในฟินแลนด์ รัฐสภาฟินแลนด์ได้เลือก Prince Frederick Charles of Hasse น้องเขยของ Emperor Welhelm II แห่งเยอรมันเป็นกษัตริย์ฟินแลนด์ เมื่อเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ Prince Frederick Charles จึงได้ประกาศสละราชย์

             ในช่วงต้นของสงครามโลก ครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙) ฟินแลนด์ได้เจรจากับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับดินแดนภาคตะวันออกของฟินแลนด์ที่ติดต่อกับสหภาพโซเวียต ซึ่งสหภาพโซเวียตต้องการเป็นเขตกันชน แต่การเจรจายังไม่จบ สหภาพโซเวียตได้ยกกองทัพบุกยึดครองดินแดนภาคตะวันออกของฟินแลนด์ที่เรียกว่า“คอคอด Karelia” และส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่กรุงเฮลซิงกิ โดยกองทัพสหภาพโซเวียตมีจำนวนทหารมากกว่ากองทัพฟินแลนด์ในอัตรา ๓ ต่อ ๑ แต่ได้รับการต่อต้านจากกองทัพฟินแลนด์ในช่วง ๑ เดือนแรกของสงครามที่เรียกว่า “สงครามฤดูหนาว” (Winter war) จนกองทัพสหภาพโซเวียตได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่หลังจากสหภาพโซเวียตจัดทัพใหม่ก็สามารถเอาชนะกองทัพฟินแลนด์ ทำให้ฟินแลนด์ต้องเสียดินแดน Karelia ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๒ ของดินแดนฟินแลนด์ให้แก่สหภาพโซเวียต และต้องอพยพคนฟินแลนด์ ๔๒๒,๐๐๐ คน ออกจากดินแดนดังกล่าว รวมทั้งให้สหภาพโซเวียตเช่าฐานทัพที่เมือง Hanko ในฟินแลนด์ เป็นระยะเวลา ๓๐ ปี สงครามฤดูหนาวทำให้เยอรมันเห็นว่า กองทัพสหภาพโซเวียตไม่ได้แข็งแกร่งเกินกำลัง เยอรมันจึงละเมิดสัญญากับสหภาพโซเวียตและเปิดแนวรบด้านตะวันออกบุกสหภาพโซเวียต เมื่อสวีเดนและนอร์เวย์ประกาศสงครามกับเยอรมันในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ฟินแลนด์หวังจะได้ดินแดน Karelia ที่เสียให้กับสหภาพโซเวียตคืน จึงยอมให้เยอรมันเดินทัพผ่านฟินแลนด์ไปรบกับสวีเดนและนอร์เวย์ แต่ปรากฏว่าเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ฟินแลนด์จึงเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เสียดินแดน Karelia เป็นการถาวร และยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามด้วย

            ปัจจุบันฟินแลนด์พัฒนาประเทศจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การบริหารปกครองประเทศแบ่งเขตปกครองเป็น ๑๙ เขต และมีเทศบาลเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น ทั่วประเทศมีเทศบาล (Municipality) ๓๑๑ แห่ง โดยมีสภาเทศบาล (Municipality council) ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นผู้บริหาร และจ้างปลัดเทศบาล (Mayor) เป็นผู้บริหารงานประจำ ทุกเทศบาลในฟินแลนด์สถานะเท่าเทียมกัน ยกเว้นกรุงเฮลซิงกิ (City of Helsinki)

เศรษฐกิจ

            สถานการณ์หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงเป็นช่วงยากลำบากของฟินแลนด์เนื่องจากเป็นประเทศแพ้สงคราม ผู้นำฟินแลนด์ถูกนำตัวขึ้นศาล และถูกพิพากษาจำคุก แต่ฟินแลนด์ก็สามารถฟันฝ่าความยากลำบากมาได้ และร่วมมือกับระบบเศรษฐกิจตะวันตก โดยเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารโลก IMF ความตกลง Bretton Woods เป็นสมาชิก GATT ฟินแลนด์ส่งนักศึกษาไปเรียนต่อในประเทศตะวันตกมากขึ้น เศรษฐกิจฟินแลนด์ได้พัฒนาตามลำดับ สินค้าหลักได้แก่ เครื่องผลิตกระดาษ เครื่องจักรกล เครน ลิฟท์ อุตสาหกรรมเคมี ส่วนด้านเกษตร รัฐบาลฟินแลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านเครื่องมือ เครื่องจักรการเกษตร การพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร

            ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศพัฒนาก้าวหน้า สัดส่วนมูลค่า GDP ของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ เท่ากับ ๗ : ๓๕ : ๕๘ โดยพึ่งพาการส่งออกทั้งตลาดตะวันตก อันได้แก่ เยอรมัน สวีเดน อังกฤษ และตลาดตะวันออกคือ สหภาพโซเวียต ฟินแลนด์ส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า hi-tech มากขึ้น แม้ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมัน (ค.ศ. ๑๙๗๓) ฟินแลนด์ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะใช้สินค้าแลกกับน้ำมันจากสหภาพโซเวียต

            ในช่วงปลายทศคริสต์วรรษที่ ๑๙๘๐ ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ในฟินแลนด์เฟื่องฟู จนกระทั่งถูกโจมตีค่าเงิน (เงินฟินน์มาร์ก) ธนาคารชาติฟินแลนด์ได้พยายามต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินฟินน์มาร์กตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ในที่สุด เศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ราคาหุ้นลดลงร้อยละ ๗๐ ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ ๕๐ GDP ของฟินแลนด์ลดลงร้อยละ ๑๓ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๐ ของ GDP และหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐๐ อัตราว่างงานสูงร้อยละ ๒๐ ค่าเงินฟินน์มาร์กลดลงร้อยละ ๑๘ ขีดความสามารถของประเทศดิ่งเหว  ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๑-๑๙๙๓ เศรษฐกิจฟินแลนด์ตกต่ำมากที่สุด ปี ค.ศ. ๑๙๙๑  อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจเท่ากับ -๗% ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ เท่ากับ -๓.๘% และปี ค.ศ. ๑๙๙๓ เท่ากับ -๑% รัฐบาลฟินแลนด์ได้แก้ไขปัญหาในภาคการเงิน โดยเฉพาะการยกเลิกการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ปล่อยค่าเงินฟินน์        มาร์กลอยตัว ลดรายจ่ายภาครัฐ ปรับโครงสร้างธนาคารและควบรวมกิจการ และกระชับนโยบายทางการเงิน

            นอกจากนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต ค่าเงินมาร์กฟินแลนด์และค่าจ้างแรงงานที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ขีดความสามารถของฟินแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๔-๒๐๐๐ เศรษฐกิจฟินแลนด์ขยายตัวร้อยละ ๔.๗ ช่วงปี ค.ศ. ๒๐๐๑-๒๐๐๗ ขยายตัวร้อยละ ๓.๕ อัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ ๖ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงที่สุดในโลก โดยบริษัท NOKIA มีบทบาทสำคัญ อันเป็นผลของการส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ IT ได้ขยายฐานเศรษฐกิจของฟินแลนด์มากขึ้น รัฐบาลฟินแลนด์ดำเนินนโยบายส่งเสริม IT มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ โดยจัดตั้ง Science and Technology Policy Council ทำหน้าที่ประสานงานและวางแผนทางนโยบายระหว่างความเชี่ยวชาญกับนวัตกรรม และมีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนชื่อ TEKES ขึ้นมาให้คำแนะนำ ปรึกษา สร้างเครือข่าย และให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่บริษัท IT เริ่มต้น (IT startup)

            ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ บริษัท NOKIA เติบโตร้อยละ ๓๗ และลงทุนใน R&D เท่ากับร้อยละ ๕๐ ของมูลค่า R&D ของภาคเอกชนฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ รายได้ของ NOKIA คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของสินค้าส่งออกของฟินแลนด์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๔ ของรายได้มวลรวมประชาชาติของฟินแลนด์  ในปี ค.ศ. ๒๐๐๑-๒๐๐๓ World Economic Forum จัดให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ ๑ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ฟินแลนด์มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อ GDP ในอัตราส่วนสูงสุดในกลุ่มประเทศ OECD และเป็นการลงทุนใน R&D ในธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล โดยภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนใน R&D ด้วย โดยระบบการศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรม นักวิชาการในมหาวิทยาลัยพัฒนาความคิด หรือค้นคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และกลายเป็นเจ้าของธุรกิจเริ่มต้น (startup)

            ต่อมา ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ เศรษฐกิจฟินแลนด์เริ่มถดถอยอีกครั้งอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และวิกฤตเงินยูโรจากกลุ่มประเทศ PIGS รวมทั้งการล้มสลายของ NOKIA เนื่องจากการตัดสินใจผิดพลาดที่เลือก Microsoft มาเป็นระบบ operating system ของโทรศัพท์มือถือ NOKIA และการเกิดขึ้นของโทรศัพท์มือถือ iPhone ของ Apple ที่ใช้ระบบ ISO และ Samsung ที่ใช้ระบบ Android ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของฟินแลนด์ลดลงอย่างมาก ค่าจ้างแรงงานสูง อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ ๘-๙

            ปัจจุบันเศรษฐกิจฟินแลนด์ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น ในปี ๒๕๕๙ มีอัตราเติบโตร้อยละ ๑.๔ และในปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๒.๓ โดยภาคเกษตรมีสัดส่วนมูลค่าต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ เท่ากับร้อยละ ๒.๘ ภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ ๒๗.๑ และภาคบริการ เท่ากับร้อยละ ๗๐.๑  ปัจจุบันฟินแลนด์ยังมีชื่อเสียงในธุรกิจเริ่มต้น (startups) ด้าน IT, gaming, clean technology และ biotechnology  ฟินแลนด์จัดงานส่งเสริมธุรกิจเริ่มต้นที่มีชื่อเสียงในสแกนดิเนเวียเป็นประจำทุกปีคือ SLUSH แต่อัตราการว่างงานยังสูงถึงร้อยละ ๘-๙ เช่นเดิม สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะระบบสวัสดิการสังคมและการรับผู้อพยพต่างชาติ โดยบริษัทเอกชนฟินน์มักจะไม่รับผู้อพยพต่างชาติเข้าทำงาน

            ปัจจุบัน สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟินแลนด์ได้แก่ ไม้สนและอุตสาหกรรมไม้สน (เป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบทางการเมืองเพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนในเขตชนบท) โลหะ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ  ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของฟินแลนด์ ได้แก่ วัตถุดิบ พลังงาน สินค้าอุปโภคและบริโภค โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญคือ เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน

สังคมและวัฒนธรรม

            ฟินแลนด์เป็นประเทศนอร์ดิก แต่ไม่ใช่ประเทศสแกนดิเนเวีย คนฟินแลนด์ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากพวกไวกิ้ง แต่เป็นชาวนาที่อยู่อาศัยกระจัดกระจายทั่วประเทศ คนฟินแลนด์พื้นเมืองจึงมีทัศนคติที่ค่อยข้างปิดตัวและไม่อยากติดต่อกับคนต่างชาติ พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ นอกจากคนฟินแลนด์ที่มีภูมิหลังติดต่อกับต่างประเทศหรือคนฟินน์รุ่นหนุ่มสาว จะมีทัศนคติเปิดกว้าง และพูดภาษาอังกฤษได้เป็นส่วนมาก

            ในปี ๒๕๖๐ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ และปลอดภัยที่สุดในโลก นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ รัฐบาลฟินแลนด์ได้ปฏิรูประบบการศึกษา จวบจนปัจจุบันฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาระดับประถมดีที่สุดในโลก อัตราประชาชนรู้หนังสือเกือบร้อยละ ๑๐๐ และเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยเป็นอันดับ ๓ ของโลก (ปี ๒๕๕๙)

นโยบายต่างประเทศ

            ฟินแลนด์เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ไม่เป็นสมาชิกนาโต้ เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกับรัสเซียที่ไม่ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านประชิดเป็นสมาชิกนาโต้ ฟินแลนด์พยายามวางตัวเป็นกลางระหว่างประเทศมหาอำนาจ หลักการสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของฟินแลนด์ ได้แก่ การยึดมั่นในหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมโลก บนพื้นฐานแห่งความเป็นประชาธิปไตย หลักนิติธรรม การเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน (Equality) และความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender equality) รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate change)

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย 

๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
            ฟินแลนด์ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๖๐ จากการปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย โดยไทยได้รับรองเอกราชของฟินแลนด์เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๖๒ ซึ่งเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ทั้งสองอย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ๓๕ ปีหลังจากนั้นคือ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๙๗ โดยการแลกเปลี่ยนหนังสือความตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ฯ ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

            ฟินแลนด์เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทยเมื่อปี ๒๕๒๓ โดยมีหัวหน้าสำนักงานเป็นระดับอุปทูต และได้ยกระดับเป็นเอกอัครราชทูตเมื่อปี ๒๕๒๙ ปัจจุบันนางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (Satu Suikkari-Kleven) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา และลาว อนึ่ง ฟินแลนด์มีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในประเทศไทยจำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฟินแลนด์ ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฟินแลนด์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน โดยฝ่ายฟินแลนด์ได้เสนอขอเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เพิ่มอีก ๒ แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฟินแลนด์ ณ เมืองพัทยา (มีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด) และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ฟินแลนด์ ณ อำเภอหัวหิน (มีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี)

            ไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เมื่อปี ๒๕๔๘ โดยมีหัวหน้าสำนักงานเป็นระดับอุปทูต และได้ยกระดับเป็นเอกอัครราชทูตเมื่อปี ๒๕๕๕ และเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้   นายนพพร อัจฉริยวนิช (เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ) เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

            ๑.๑ การเมือง
                   ปัจจุบัน ประเทศไทยและฟินแลนด์มีการประชุมหารือด้านการเมือง (Political Consultations) เป็นกลไกหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี เพื่อติดตามและพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยมีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ ในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งการหารือได้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านการศึกษา การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทย-ฟินแลนด์ พัฒนาการในเมียนมา และความร่วมมือไตรภาคี ตลอดจนสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป

                   ฝ่ายฟินแลนด์แจ้งว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Political Consultations ครั้งที่ ๒ ในช่วงต้นปี ๒๕๕๘  อย่างไรก็ดี หลังจากการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ฟินแลนด์ได้เปลี่ยนท่าทีโดยได้ชะลอการจัดการประชุมไว้ก่อนจนกว่าไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป แต่หลังจากสหภาพยุโรปปรับมติเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ฟินแลนด์มีท่าทีที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และทั้งสองฝ่ายได้ประชุม Political Consultations ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพฯ ในระดับอธิบดี

            ๑.๒ การค้า

                   ไทยและฟินแลนด์มีปริมาณการค้ารวม ๕๑๖.๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นการส่งออก ๑๗๔.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า ๓๔๒.๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเสียดุลทางการค้า ๑๖๗.๘๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๙)

                   ฟินแลนด์เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญลำดับที่ ๖๓ ของไทย โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปฟินแลนด์ ได้แก่ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องครัว เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเล และยานยนต์ ส่วนฟินแลนด์เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญลำดับที่ ๔๔ ของไทย โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญจากฟินแลนด์ ได้แก่ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ปุ๋ย เครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

            ๑.๓ การลงทุน
                   จากสถิติสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปี ๒๕๕๘ ฟินแลนด์ลงทุนในไทย ๙ โครงการ มูลค่าประมาณ ๔๙๕ ล้านบาท ในกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปสำหรับงานอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ และสิ่งประดิษฐ์จากหินหรือไม้

                   สาขาที่ฟินแลนด์มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทย อาทิ การออกแบบ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พลังงาน โดยเฉพาะนิวเคลียร์และชีวภาพ การศึกษา ป่าไม้ การวิจัยและการพัฒนา ในขณะที่นวดแผนไทย สปา และร้านอาหารไทย เป็นสาขาการลงทุนที่ไทยมีโอกาสในตลาดฟินแลนด์ (ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยในฟินแลนด์จำนวน      ๓๐ ร้าน)

            ๑.๔ การท่องเที่ยว

                   ในปี ๒๕๖๐ มีนักท่องเที่ยวฟินแลนด์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ๑๓๗,๖๕๐ คน สร้างรายได้ให้แก่ไทยประมาณ ๑๑,๓๒๕ ล้านบาท โดยในปี ๒๕๕๙ นักท่องเที่ยวฟินแลนด์มีระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยโดยเฉลี่ยคนละ ๑๖.๑ วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ ๕,๑๐๑ บาท ต่อคน     

                   ในปี ๒๕๔๗ ได้มีการจัดตั้งสมาคมชาวฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ (Krungthepin Suomalaiset) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวฟินแลนด์ในการดำเนินชีวิตในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีสมาคมฟินแลนด์ พัทยา (Pattaya Finland-Society) และโรงเรียนฟินแลนด์ในพัทยาอีกด้วย

                   อนึ่ง สายการบินฟินน์แอร์ (Finnair) มีเส้นทางบินจากกรุงเฮลซิงกิ-กรุงเทพฯ วันละ ๒ เที่ยวบิน แต่สายการบินไทยไม่ทำการบินมายังฟินแลนด์

           ๑.๕  ความร่วมมือทวิภาคี

                   ๑.๕.๑ ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการป่าไม้

                              การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการบริหารจัดการป่าไม้

                              - ระหว่างวันที่ ๔-๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้จากสถาบันทรัพยากรธรรมชาติฟินแลนด์ (National Resources Institute หรือ Luke) ได้เดินทางเยือนไทยตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เพื่อจัดการสัมมนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการป่าไม้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ ตามที่ฝ่ายฟินแลนด์เสนอ โดยมีกรอบความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การสำรวจทรัพยากรป่าไม้ ยุทธศาสตร์ป่าไม้ของชาติ แผนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการจัดการเขตพื้นที่คุ้มครอง

                              - สถานะล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ เพื่อให้มีการลงนามระหว่างหน่วยงานไทยและฟินแลนด์

                              โครงการคืนสภาพชีวมวลเศษไม้ยางพาราที่เหลือทิ้งในประเทศไทยเพิ่มคุณค่าด้วยทางแก้แนวใหม่ (Residual biomass recovery from rubberwood plantation forestry in Thailand - value addition through novel logistical solutions)

                              - เป็นโครงการระหว่างคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ Luke เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และแนะนำเทคโนโลยีด้านพลังงานชีวมวลให้แก่ไทย โดยนำไม้ยางพาราที่เกษตรกรโค่นทิ้งเนื่องจากผลผลิตน้ำยางลดลง รวมทั้งเศษไม้ยางพาราที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มาวิจัย เพื่อสร้างระบบการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหามวลชีวภาพจากสวนยางพาราในประเทศไทยเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจพลังงานชีวมวลที่ยั่งยืน โดยพัฒนาตัวแบบต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย

                              - โครงการดังกล่าวประกอบด้วย ๔ โครงการย่อย โดยโครงการย่อยที่ ๑ และ ๒ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๕-๑๖ กันยายน ๒๕๕๙ ส่วนโครงการย่อยที่ ๓ และ ๔ จะดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ แต่ไม่มีการดำเนินการต่อเนื่องจากงบประมาณ

                    ๑.๕.๒ ความร่วมมือด้านการศึกษา

                             -  กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้มีการทำความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฟินแลนด์ ผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์และคณะกรรมการการศึกษาของฟินแลนด์รับจะพิจารณาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ แต่ยังไม่ให้คำตอบแก่ฝ่ายไทย อาจเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลฟินแลนด์ที่ต้องการส่งออก (ขาย) ระบบการศึกษาฟินแลนด์ มากกว่าการดำเนินความร่วมมือ ปัจจุบัน ฟินแลนด์ส่งออกระบบการศึกษาผ่านบริษัท EduCluster และบริษัท Finland University

                             - สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ด้วยความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมมือกับเทศบาล Vihti (ห่างจากกรุงเฮลซิงกิประมาณ ๕๐ กิโลเมตร) เชิญครูฟินแลนด์ในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในเขตเทศบาล Vihti มาจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสาธิตวิธีการสอนหนังสือแบบฟินแลนด์ให้แก่ครูโรงเรียนในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ครูประชาบาล) ในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน          ได้จัดการสัมมนาฯ ไปแล้ว ๓ ครั้ง โดยมีครูประชาบาลไทยจากโรงเรียนในภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วม  ครั้งละประมาณ ๒๐๐-๒๔๐ คน การสัมมนาฯ ครั้งที่ ๔ จะจัดขึ้นในวันที่ ๙-๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ ที่จังหวัดภูเก็ต สำหรับครูประชาบาลในภาคใต้

                               ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเทศบาล Vihti นับว่าเป็น “ความร่วมมือด้านการศึกษาที่แท้จริง”

            ๑.๖ คนไทยเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

                   ในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ บริษัทผลไม้ป่าฟินแลนด์ได้เริ่มนำคนไทยมาเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกันยายนของทุกปี ปัจจุบันบริษัทผลไม้ป่าฟินแลนด์จะนำคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ปีละประมาณ ๒,๕๐๐ - ๓,๐๐๐ คน สร้างรายได้ให้กับคนไทยรวมกันปีละประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ ทางการฟินแลนด์และทางการไทยได้ร่วมมือกันในการจัดทำแนวปฏิบัติ (Letter of Intent) ในการนำคนต่างชาติรวมทั้งคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ให้บริษัทผลไม้ป่าฟินแลนด์ปฏิบัติตามรวมทั้งการพบหารือกันเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 ๒. ความตกลงที่สำคัญ

            ความตกลงที่ได้ลงนามแล้ว ๗ ฉบับ   

            ๒.๑ อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๘)

            ๒.๒ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๘)                 

            ๒.๓ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑)

            ๒.๔ ความตกลงว่าด้วยการติดตั้งและใช้เครื่องวิทยุรับ-ส่ง ในสถานเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๑)

            ๒.๕ สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๑)

            ๒.๖ ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๗)

            ๒.๗ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗)

 
********************