สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จัดงานสัมมนาเรื่อง “เปิดมุมมองงานการให้บริการภาครัฐต่อประชาชนด้วยทักษะดิจิทัล ที่กรุงเทพฯ วันที่ 14 มิถุนายน 2561

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จัดงานสัมมนาเรื่อง “เปิดมุมมองงานการให้บริการภาครัฐต่อประชาชนด้วยทักษะดิจิทัล ที่กรุงเทพฯ วันที่ 14 มิถุนายน 2561

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 674 view

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สพร.) จัดงานสัมมนาเรื่อง “เปิดมุมมองงานการให้บริการภาครัฐต่อประชาชนด้วยทักษะดิจิทัล” (Digital Connected e-Estonia - Thailand ที่โรงแรม The Berkeley Pratunam เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 โดยรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ 259 คน จาก 219 หน่วยงาน ตั้งแต่ปลัดกระทรวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการสำนัก (ระดับ 11) รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สพร. กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตนพพรฯ ที่ได้ริเริ่มโครงการเชิญผู้เชี่ยวชาญเอสโตเนียด้านการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและอัตลักษณ์ดิจิทัลจาก State Information System Authority ของเอสโตเนียมาบรรยายให้ผู้แทนหน่วยงานไทยฟัง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจสำคัญของ สพร. ที่ได้รับมอบหมายให้ประสานงานการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐในการให้บริการแก่ประชาชน อันเป็น    การดำเนินงานตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”  

เอกอัครราชทูตนพพรฯ กล่าวว่าแม้เอสโตเนียจะเป็นประเทศเกิดใหม่หลังอดีตสหภาพโซเวียต   ล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 แต่ผู้นำเอสโตเนียได้ตัดสินใจนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชน ปัจจุบันเอสโตเนียเป็น 1 ใน 5 ประเทศแนวหน้าด้านการให้บริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital 5) โดยปัจจัยสำคัญของการให้บริการภาครัฐทางระบบอิเล็กทรอนิกส์คือ เจตนารมณ์ทางการเมือง และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการใช้และเก็บรักษาข้อมูลของประชาชน ปัจจุบันเอสโตเนียให้บริการภาครัฐถึงร้อยละ 99 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า e-Estonia

เอกอัครราชทูตนพพรฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการให้บริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว กล่าวคือ มีบัตรประชาชนที่มี chip (ID card) บรรจุข้อมูลพื้นฐานของประชาชนเหมือนกับ บัตรประชาชนของเอสโตเนีย และประเทศไทยกำลังจะมีสัญญาณ wifi ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2561 แต่มีอีกหลายหน่วยงานไทยที่ยังไม่เชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน อาจเนื่องจากความเข้าใจไม่ถูกต้องที่เกรงว่า จะเป็นการเปิดเผยข้อมูลลับของหน่วยงาน  สำหรับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของเอสโตเนียนั้นเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นคู่ ๆ โดยมีการทำความตกลงกันว่าจะเชื่อมโยงข้อมูลส่วนใด อย่างไร และเจ้าหน้าที่คนใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ดังนั้น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐจึงมีความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลเอสโตเนียยังอนุญาตให้สถาบันภาคเอกชนโดยเฉพาะธนาคารเข้ามาร่วมในระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย โดยบริษัทเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของตน เอกอัครราชทูตนพพรฯ จึงหวังว่าการสัมมนาในวันนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจพื้นฐานของหน่วยงานไทย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของ eThailand หรือ Digital Thailand ตามนโยบาย Thailand 4.0

รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจินฯ กล่าวเปิดการสัมมนาฯ โดยเน้นนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นดิจิทัล รวมทั้งการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการแก่ประชาชน หน่วยงานภาครัฐต้องเข้าใจว่าจะใช้ประโยชน์จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการประชาชนอย่างไร โดยแยกแยะข้อมูล และนำระบบดิจิทัลมาใช้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นสากล จึงอยากให้ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐเปิดใจ รับรู้ รับฟัง และนำสิ่งที่ได้ฟังในวันนี้ไปใช้ประโยชน์ โดย สพร. จะช่วยติดตาม ประเมินผล และหาก สพร. ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการติดต่อกับเอสโตเนีย ก็ขอให้ สอท. ณ กรุงเฮลซิงกิ ช่วยประสานงานให้ได้ ทั้งนี้ การให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับธรรมาภิบาลด้วย ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Mr. Andrus Kaarelson รองอธิบดีด้านสารสนเทศ State Information System Authority ของเอสโตเนียได้บรรยายสรุปเรื่อง eEstonia ว่า รัฐบาลต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ประชาชน สร้างระบบ wifi ครอบคลุมทั่วประเทศ การให้บริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นการดำเนินการแบบ real time ประหยัดเงินและเวลา ลดกระดาษ และโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนสามารถใช้บริการด้วยการแสดงตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital identification) และหน่วยงานภาครัฐต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งเอสโตเนียได้คิดค้นและประดิษฐ์ระบบ X-road Information System ขึ้นมาใช้เชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และ State Information System Authority จะเป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ควบคุม ดูแล และให้การสนับสนุนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง (authenticity) ของหน่วยงานที่จะเข้ามาในระบบ X-road Information System เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลกัน

Mr. Margus Arm ผู้อำนวยการกอง eID Domain กล่าวว่า การติดต่อสื่อสารระหว่างกันในโลก online จึงจำเป็นต้องมีความแน่ใจว่า เราติดต่อถูกคน หรือกำลังติดต่อกับคนที่ต้องการติดต่อด้วย อัตลักษณ์อิเล็กทรอนิกส์ (eID) จึงเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ ประชาชนเอสโตเนียใช้อัตลักษณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการรับบริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 โดยรัฐบาลบังคับ และยังสามารถใช้ eID ในการลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ (e signature) ด้วย ซึ่งอัตลักษณ์อิเล็กทรอนิกส์มีหลายแบบ อาทิ บัตรประชาชนที่มี chip (ID card) หรือโทรศัพท์มือถือผ่าน ID chip (mobile ID) และ Digital ID ออกให้โดยหน่วยงานรัฐ และ smart ID    ออกให้โดยบริษัทเอกชน นอกจากนั้น ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2014 รัฐบาลเอสโตเนียได้ออก e Resident ให้แก่บริษัท เอกชนไม่จำกัดสัญชาติที่ไม่ได้มีที่ทำการของบริษัทในเอสโตเนียสามารถประกอบธุรกิจในเอสโตเนียได้ (แต่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลให้เอสโตเนีย) ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อทำให้การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สนใจสามารถดูคลิปวิดีโอในเรื่องนี้ได้ที่

https://youtu.be/Agp_bjBYfe4

https://youtu.be/BYZKkceqKX4

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ