วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 78,780 view

ข้อมูลทั่วไปของประเทศฟินแลนด์

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป

  • เป็นประเทศในกลุ่มประเทศนอร์ดิก
  • ทิศเหนือติดกับประเทศนอร์เวย์ ทิศตะวันออกติดกับประเทศรัสเซีย
  • ทิศตะวันตกติดกับประเทศสวีเดน

เมืองหลวง กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki)

  • พื้นที่ 338,145 ตารางกิโลเมตร
  • พื้นที่ป่าไม้ 227,767 ตารางกิโลเมตร และมีทะเลสาป 187,888 แห่ง
  • ประชากร ประมาณ 5.5 ล้านคน
  • ภาษาราชการ 2 ภาษา คือ ภาษาฟินนิช และภาษาสวีดิช สามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและการติดต่อธุรกิจ

หน่วยเงินตรา ยูโร (Euro)

  • ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปปี พ.ศ. 2538 และเริ่มใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

ภูมิอากาศ

  • อากาศหนาวเย็น โดยเวลาที่มีแสงอาทิตย์ค่อนข้างสั้น
  • ฤดูหนาว อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส (ธ.ค. – เม.ย.)
  • ฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิเฉลี่ยจาก 10 องศาเซลเซียสถึง15 องศาเซลเซียส (พ.ค. – มิ.ย.)
  • ฤดูร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 15 องศาเซลเซียส (ก.ค. – ก.ย.)
  • ฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส (ต.ค. – พ.ย.)

การเมือง การปกครอง

  • ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
  • ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศ
  • นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ทำหน้าที่บริหารประเทศ

เศรษฐกิจ

  • ระบบเสรีนิยมและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
  • ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อกำหนดตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป

ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม

  • ศาสนาคริสต์นิกายลูเธอร์แรน ร้อยละ 75
  • นิกายออร์โธด็อกซ์ ร้อยละ 1.1
  • ไม่นับถือศาสนา ร้อยละ 22
  • อนุรักษ์นิยม
  • ยึดถือค่านิยมแบบตะวันตก เคารพสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกัน

จุดเด่นของฟินแลนด์

  • การเริ่มต้นประกอบธุรกิจเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว มีภาครัฐให้การสนับสนุนและเงินเริ่มลงทุน
  • โครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและเครือข่ายการสื่อสารที่สะดวกและเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ
  • ประชาชนในประเทศมีการศึกษาสูง บุคลากรมีประสิทธิภาพ มีทักษะในการแก้ปัญหา
  • นักเรียนของฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น "นักเรียนที่มีคุณภาพที่สุดในโลก" ประเมินจากนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับของนักเรียนจำนวน 65 ประเทศ
  • กำลังการผลิตของฟินแลนด์เป็นอันดับที่ 31 ของโลก
  • เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือมาก
  • จากการจัดอันดับ World Audit ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นต่ำมาก
  • เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นต้นกำเนิดและแหล่งคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคม R&D intensity (Research and Development) ด้านความก้าวหน้าการวิจัยโดยรวมของฟินแลนด์เป็นอันดับที่ 2 ของโลก
  • ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของฟินแลนด์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าและการลงทุนมีความโดดเด่น เนื่องจากเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศบอลติก รัสเซีย และกลุ่มประเทศนอร์ดิก

ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจฟินแลนด์อยู่ในสภาวะถดถอยในระยะเวลา 3-5 ปี ที่ผ่านมา ดัชนีบ่งชี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราต่ำ ในปี พ.ศ. 2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตในอัตราเพียงร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด ระบบภาษีที่มีอัตราสูง ค่าจ้างแรงงานสูง ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกตกต่ำ ประเทศคู่ค้าหลักเช่นรัสเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงินที่ลดลง เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มสกุลเงินยูโรไม่ขยายตัว ขณะที่เศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะชะลอตัว

World Economic Forum (WEF) ได้ลดระดับความสามารถในการแข่งขันของฟินแลนด์จากอันดับ 4 มาอยู่ในอันดับ 8 (2015) รวมทั้ง Standard & Poor’s จัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์อยู่ที่ AA+ ณ เดือนกันยายน 2015 (จากเดิม AAA)  

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ (ธันวาคม 2558)

  • เงินเฟ้อติดลบอยู่ในระดับร้อยละ -0.2
  • อัตราว่างงานร้อยละ 9.2 หรือเท่ากับจำนวนประชากร 241,000 คน
  • สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2015 สูงขึ้นถึงร้อยละ 63
  • ฟินแลนด์ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นจากสาเหตุของการเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคาและค่าจ้างแรงงานที่มีอัตราสูง การส่งออกลดลง และขาดดุลการค้ารวมประมาณ 690 ล้านยูโร โดยส่งออกไปเยอรมนี สหรัฐฯ และญี่ปุ่น มากที่สุดตามลำดับ สำหรับรัสเซียคู่ค้าสำคัญ มูลค่าการค้าสองฝ่ายลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของอียูจากวิกฤติการณ์ยูเครน โดยรัสเซียตกไปอยู่ลำดับ 5 คู่ค้าที่สำคัญของฟินแลนด์
  • ในปี พ.ศ. 2557 ฟินแลนด์มีประชากรช่วงอายุ 65 ปี ขึ้นไป จำนวน 376,614 คน หรือร้อยละ 19.9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ช่วงอายุ 0-14 ปี ร้อยละ 16.4 และช่วงอายุ 15-64 ร้อยละ 63.4) โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2553-2557 จำนวนคนในวัยทำงานลดลง 69,000 คน
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP (Official Exchange Rate) มูลค่า 267.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พ.ศ. 2557
  • GDP (Purchasing Power Parity) มูลค่า 195.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2557
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัว (income/per capita) 48,420 ดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าของภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการของฟินแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ร้อยละ 27.1และ ร้อยละ 70.1 ของ GDP ตามลำดับ
  • ฟินแลนด์อยู่ในอันดับ 4 ของยุโรป และอันดับ 8 ของโลกจากการจัดอันดับของ Global Competitiveness Index พ.ศ. 2558-2559
  • ฟินแลนด์เป็นผู้นำในยุโรปและอันดับ 2 ของโลกในด้าน IT จากการจัดอันดับของ World Economic Forum(WEF) Global Information Technology Reports (GITR) Ranking พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์ไทย - ฟินแลนด์

ไทยกับฟินแลนด์เป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2462 โดยความสัมพันธ์ไทยกับฟินแลนด์จะครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2562

ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน

การค้าและการลงทุนสองฝ่ายยังมีมูลค่าไม่มากนัก แต่มีศักยภาพที่จะสามารถเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอนาคต ปัจจุบันรัฐบาลฟินแลนด์มีนโยบายมุ่งขยายการค้าและการลงทุนไปยังเอเซีย รวมทั้งยังคงให้ความสนใจในการย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียและไทย  

วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวฟินแลนด์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวฟินแลนด์จัดเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีวันพักเฉลี่ยในไทยประมาณ 13.16 วัน และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 3,102.62 บาท/วัน/คน การใช้จ่ายส่วนใหญ่เน้นไปที่หมวดค่าที่พัก และการจับจ่ายซื้อของ นักท่องเที่ยวฟินแลนด์นิยมแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายทะเลมาก เช่น จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ปัจจัยในทางบวกที่ทำให้ชาวฟินแลนด์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทย คือการบริการเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ - เฮลซิงกิ ของสายการบินฟินน์แอร์

 

การค้าไทย – ฟินแลนด์

  

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปฟินแลนด์ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัว และบ้านเรือน เป็นต้น  

ไทยมีโอกาสที่จะสามารถขยายมูลค่าการค้าได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะสินค้าแปรรูป อาทิ กลุ่มผักและผลไม้กระป๋อง ซึ่งตลาดฟินแลนด์มีความต้องการมากขึ้น โดยใน 7 เดือนแรกของปี 2558 ไทยส่งออกผักและผลไม้กระป๋องไปยังฟินแลนด์รวม 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28

สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากฟินแลนด์ ได้แก่ เครื่องจักรกล ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องมือทางการแพทย์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น  

 

ความตกลงระหว่างไทย - ฟินแลนด์

  • ความตกลงว่าด้วยสิ่งทอ ลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2522
  • อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการเก็บภาษีอากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ลงนามเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2528
  • ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ลงนามเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
  • ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2537
  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2547

การค้าฟินแลนด์ – อาเซียน

ในอาเซียน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของฟินแลนด์ รองลงมาคือ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์